RSS

Category Archives: Good book

Long Way Round

หนังสือที่คนบ้ามอเตอร์ไซด์ไม่ควรอ่าน เพราะอ่านแล้วมันอาจจะทำให้คุณคลั่งหนัก

สารภาพเลยว่าแรกเริ่มเดิมทีผมก็มองข้ามหนังสือเล่มนี้ไป อาจเพราะความเป็นดาราฮอลลีวู้ดของ ยวน แมกเกรเกอร์นั่นแหละ ที่ทำให้คนอ่านมองได้ง่ายๆว่า การออกหนังสือสักเเล่ม หรือการลุกขึ้นมาขี่มอเตอร์ไซด์รอบโลกสักครั้งเป็นเรื่องง่ายๆสำหรับคนดังและรายได้สูง มันคงไม่ยากที่จะทุ่มเงินหลายๆล้าน เดินทางและถ่ายทำโดยที่มีทีมงานคอยสนับสนุน และผลิตมันออกมาเป็น หนังสือ ทีวีซีรีย์ และ DVD   ผิดกับคนธรรมดาทั่วไปหากจะเดินทางรอบโลกคงทำได้แบบค่อยเป็นค่อยไปเรื่อยๆ ดังนั้นในครั้งแรกที่ผมเห็นมันบนแผงหนังสือ ผมจึงประเมินค่าของมันค่อนข้างต่ำ  แต่จริงๆแล้วเมื่อได้อ่านก็พบว่า ยวน แมกเกรเกอร์และเพื่อนรัก ชาลี บอร์แมน ก็เป็นมนุษย์ธรรมดา ที่มีอาชีพพิเศษที่ทำให้โ่ด่งดังแค่นั้นเอง ความพิเศษของเรื่องราวคือ คนทั้งคู่พยายามจะทำให้มันออกมาธรรมดาที่สุดไม่มีการจัดฉาก หรือเขียนบท

หนังสือเปิดตัวบทแรกๆยวนและชาลี อธิบายความรู้สึกรักและผูกพันกับหลังอานมอเตอร์ไซด์ ตรงนี้ก็เหมือนชีวิต เด็กหนุ่มๆทั่วไป ที่แอบพ่อแม่ไปซื้อมอเตอร์ไซด์ หรือประสบการณ์การหัดขับขี่ท่องเที่ยว ซึ่งมันคือการปูทางอธิบายผู้อ่านให้เข้าใจว่า สิ่งที่ทั้งสองต้องการกระทำ ไม่ใช่การโปรโมทตัวเอง หรือโปรเจคหาเงิน เป็นแค่เพียงสิ่งๆเดียว นั่นคือเพื่อทำตามความฝัน

สมมติคนเราวางแผนเดินทางรอบโลกแน่นอนวิธีง่ายที่สุดคือ ลาออกจากงานแล้วเอาเงินที่มีออกมาใช้ นั่นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดเพราะไม่ต้องมีห่วงเรื่องเวลา แต่ก็เป็นวิธีที่บ้าที่สุด เพราะเท่ากับทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไป แต่ยวนและชาลี ถึงแม้เป็นนักแสดงก็มีตารางคิวงานแน่นเต็ม และมีครอบครัวกันแล้ว ทั้งคู่จึงต้องวางแผนการเดินทางโดยใช้ระยะเวลาไม่เกินสามเดือน เพื่อจะกลับไปใช้ชีวิตเช่นเดิม ดังนั้นเมื่อทั้งคู่ตัดสินใจจะเดินทางรอบโลก ความเครียด ความกลัว ความไม่แน่ใจ จึงเกิดขึ้นในตัว แม้จะออกเดินทางวันแรกจากเกาะอังกฤษไปจนถึงยุโรป ทั้งคู่ก็ยัง ประหม่า และต้องต่อสู้กับความรู้สึกตัวเองอย่างมาก ในช่วงนี้ของหนังสือมีวลีเด็ดๆมากมายที่ยวนรำพึงและ ชาลีแสดงออกมาทางอารมรณ์ความรู้สึกให้ผู้อ่านได้รับ

จนกระทั่งผ่านรัสเซียความเครียดยังคงมีแต่ดูเหมือนพวกเค้าจะเริ่มเอาชนะมันได้แล้ว จนเมื่อถึงมองโกเลียแม้ว่าเส้นทางจะยากลำบากขึ้นจนถึงขั้นแสนสาหัสพวกเค้าก็ได้พัฒนาตนเอง จนกระทั่งเอาชนะอุปสรรคในใจได้หมดสิ้น ส่วนนึงน่าจะเป็นเพราะ ธรรมชาติและผู้คนได้เปลี่ยนเค้าให้เปิดใจ และให้รู้จักชีวิตที่แท้จริงที่ต้องไม่ฝืน แพ้ได้ล้มได้ แต่ต้องพยายามลุกขึ้น และสู้ต่อ  หลังจากนั้นแม้ว่าจะผ่าน ทางที่ยากลำบากไม่ว่าจะเป็น โรด ออฟ โบน ไซบีเรีย บรรยาศในการเดินทางกลับ สนุกและมีความสุขขึ้น นั่นเพราะ ทั้งคู่ได้ค้นพบความสงบในใจแล้ว

หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ แม้แต่ยวนและชาลี เองก็ไม่รู้ตัวแต่เขียนไว้ในหนังสือ ว่าช่วงเวลาของการขี่มอเตอร์ไซด์อันยาวนานหลายชั่วโมง ความสุขลึกๆได้บังเกิด เหมือนกับเราได้อยู่กับตัวเองภายใต้หมวกกันน๊อค ความคิดและเรื่องราวต่างที่เราได้ทำในอดีต แวบเข้ามา ให้เราคิดให้เรามอง ให้เราพิจารณา มันเป็นช่วงเวลาที่เงียบสงบที่สุด แต่คนขับขี่กลับรู้สึกตัวมากที่สุด เพราะหูต้องคอยฟัง เสียงการทำงานของเครื่องยนต์ว่าปกติหรือไม่ ตาต้องคอยมองเส้นทาง มองกระจกข้างดูรถ และดูเพื่อนร่วมทาง แขนขาต้องคอยควบคุมแฮนด์ ครัช และเบรค ทุกการเข้าโค้งต้องสู้กับใจตัวเอง ไม่ให้กายเหวี่ยงออก ตามแรงฟิสิกส์ เพื่อคุมรถให้เข้าโค้งได้ราบรื่นที่สุด  สำหรับผมมันคืิอกายานุสติปฐาน หนึ่งในหลักการเจริญสติปฐานสี่ ที่ชาวพุทธเรียนรู้จากการปฎิบัติธรรมะของพระพุทธองค์นั่นเอง

ผมไม่ทราบว่าคนที่ไม่เคยขี่มอเตอร์ไซด์เดินทางท่องเที่ยวเลย จะชื่นชอบหนังสือเล่มนี้หรือไม่ แต่สำหรับผมเองนั้น บอกได้เลยว่า ทุกความรู้สึกของยวนและชาลี นั้นเป็นจริง และหนังสือเล่มนี้โดนมากๆ โดยเฉพาะเรื่องจริงที่ว่า ความรู้สึกของผู้ชายคนนึงที่บ้าบิ่น รักการผจญภัย เมื่อออกเดินทาง ไม่ว่าจะไปไกลสักเท่าไร หัวใจเค้าจะโหยหา ที่จะบินกลับมา หาครอบครัว และคนที่เค้ารัก อยู่เสมอทุกลมหายใจ

 
Leave a comment

Posted by on 29/05/2011 in Good book

 

ลิงจอมโจก

ลิงจอมโจกฉบับพิมพ์ครั้งแรกๆ ใช่ชื่อว่า เดินทางไกลกับไซอิ๋ว เขียนโดย ท่านเขมานันทะ ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนนึงของ ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านเขมานันทะนั้น เคยบวชอยู่ที่ สวนโมกข์ และทำงานด้านสื่อการเผยแพร่ธรรม รับใช้ท่านอาจารย์พุทธทาส หลายๆอย่างเช่น ภาพวาดใน โรงมหรสพทางวิญญาณ เป็นต้น

ไซอิ๋ว วรรณกรรมจีนโบราณ เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่เด็กเอเชีย ส่วนมากรู้จักกันดี และได้ถูกนำมาดัดแปลง และสร้างแรงบรรดาลใจให้กับการ์ตูน และนิยายอีกมากมาย ในสมัยปัจจุบัน พูดได้เลยว่า เด็กทุกๆคนชอบไซอิ๋ว

แต่ใครจะรู้บ้าง ว่าไซอิ๋วเป็นงานเขียนที่ แฝงนัยยะทางการปฎิบัติ ธรรมขั้นสูงเอาไว้  แม้จะเคยทราบกันมาแล้วว่า พระถังซำจั๋ง ท่านมีตัวตนอยู่จริง และได้เดินทางไปอินเดียจริง เพราะมีเอกสารต่างๆในอดีตได้บันทึกไว้ แต่การเดินทางของท่านในชีวิตจริง นั้นก็ต่างกับในวรรณกรรม ในวรรณกรรมมีเรื่องราววิจิตรพิสดาร ที่เทวดา ปีศาจ มีอิทธิฤทธิ์ ต่างๆมากมาย เรียกได้ว่าพอเราโตขึ้นและมองกลับมาดูไซอิ๋ว อีกครา ก็พบว่ามันเป็นแค่  นิทานหลอกเด็ก ที่ไม่ได้มีคุณค่าอะไร

แท้จริงแล้ว ทุกลำดับเหตุการณ์ในไซอิ๋วเป็นปริศนาธรรม ที่ถูกผู้รจนาวางไว้อย่างตั้งใจ ปีศาจแต่ละตัวที่เข้ามา ล้วนเป็นตัวแทนลัญลักษณ์ของสภาวะที่ผู้ปฎิบัติธรรมลึกเข้าไป ต้องเผชิญทีละขั้น  อิทธิฤทธิ์ต่างๆของตัวเอกต่างก็เป็นสัญลักษณ์ของข้อธรรมะที่ผู้ปฎิบัติธรรมต้องมี เพื่อจะไปให้ถึงชมพูทวีป นั่นก็คือนิพพาน

ผมขอคัดลอกบางส่วนเสี้ยว ที่ท่านเขมมานันทะเขียน มาให้ท่านได้ทำความเข้าใจกัน

“สรุปได้ว่าทุกสิ่งอยู่ในใจ ผู้ที่อ่านไซอิ๋วจะพบว่าการอ่านไซอิ๋วเป็นดุจการได้สนทนากับชีวิต ไซอิ๋ว จึง เป็นคัมภีร์ที่ลึกซึ้งเท่าๆ กับความเป็นวรรณกรรม เพราะท่านผู้แต่งได้รวบรวมเอาเนื้อหาในพระสูตรไว้หลายสิบสูตรชื่อของถ้ำ ปีศาจและชื่อของภูเขาและพรรณไม้รอบๆ ถ้ำจะเป็นกุญแจไขข้อธรรม น่าเสียดายว่า ไซอิ๋ว ฉบับไทยนั้นไม่คงเส้นคงวาในการแปลชื่อเท่าใดนัก

ข้าพเจ้าได้เคยเข้าใจคลาดมาหลายระดับ แม้แต่เคยเข้าใจว่า เห้งเจีย
โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งถ้าพิจารณานิสัยของสัตว์ทั้งสามก็คงจะใกล้เคียงมาก ครั้นต่อมาครูของข้าพเจ้า (ท่านอาจารย์พุทธทาส) ได้ชี้ขึ้นว่า ที่ แท้สัตว์ทั้งสามนั้นคือ ปัญญา ศีล สมาธิ ที่ยังล้มลุกคลุกคลานอยุ่นั่นเอง โพธิก็ยังเถื่อน ศีลก็ยังทุศีล และสมาธิก็ยังซึมกะทืออยู่ ครั้นต่อมาเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมกันแล้ว ถึงเขตโลกุตระ ทั้งสามตัวเริ่มเข้าร่องเข้ารอยกันได้ หากจะถือว่าทั้งสามสัตว์ คือ ราคะ โทสะ โมหะแล้ว พระถังซัมจั๋งจะอาศัยไปไซที(นิพพาน) ได้อย่างไร ดูขัดเขินกว่าที่จะลงเห็นว่าเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ที่ยังเป็นโลกียะอยู่ ต่อมาเมื่อได้พิจารณาถี่ถ้วน หรือว่าท่านผุ้อ่าน ไซอิ๋ว จนจบเรื่องนั่นแหละ จึงจะมีความเห็นร่วมกับข้าพเจ้าเป็นแน่”

ผมขอยกตัวอย่างเข้าใจง่ายๆอีกสักตอน ก็ตอนที่ เห้งเจีย ขึ้นไปบนสวรรค์ได้รับตำแหน่งคนเลี้ยงม้า ให้เง๊กเซียนฮ้องเต้ เห้งเจียรู้ความจริงก็รู้สึกเสมือนหนึ่งโดนดูถูก จึงโกรธจัดแล้วพาล แผลงฤทธิ์ไปทั่ว แม้จะโดนจับแต่ก็ฆ่าไม่ตายแถมแต่งตั้งตนเองเป็นซีเทียนไต้เซียผู้ยิ่งใหญ่แห่งสรวงสวรรค์    จนพระยูไลต้องมาเจรจา โดย เห้งเจียอวดฤทธิ์ว่า สามารถตีลังกาเหาะเหินเดินอากาศไปได้ไกลที่สุด   พระยูไลจึงกล่าวว่าหากสามารถไปได้ไกลจากอุ้งมือ ของพระยูไล ก็จะถือว่าชนะ   จะยอมยกให้เป็นจอมสวรรค์   เห้งเจียได้ฟังดังนั้นก็ฮึกเหิม  ตีลังกาไปจนถึงสุดขอบจักรวาล เจอเสาห้าตนก็เข้าใจไปว่าเป็นรากของดินและฟ้า คิดว่าตนเองชนะแล้ว เมื่อกลับมาพบว่า เสาห้าตนแท้จริงแล้วคือนิ้วของพระยูไล เห้งเจียก็ไม่ยอมรับ จึงโดนฝ่ามือและนิ้วทั้งห้าขยายมาครอบทับ และตกลงมายังโลกเป็นภูเขาห้ายอดครอบเห้งเจียเอาไว้ ทุกครั้งที่หิวจะได้กินน้ำเหล็กหลอม รอพระถังซำจั๋งมาปลดปล่อยพาไปอัญเชิญพระไตรปิฎกถึงชมพูทวีป

เคยสงสัยมั๊ยครับว่า เห้งเจียตีลังกาได้ไกลเพียงนี้ แค่ตีลังการอบเดียวก็ถึงชมพูทวีปแล้ว ทำไมต้องเหนื่อยเดินทางรอนแรมไปกับคณะของพระถังซำจั๋ง

ในความหมายโดยธรรมแล้ว เห้งเจียคือปัญญา(ทางมหายานเรียกโพธิจิต) ซึ่งมีกำลังมาก ตามท้องเรื่องที่ว่าฆ่าไม่ตาย เพราะเห้งเจียกำเนิดจากดินและฟ้า โดยธรรมแล้วโพธิจิตเป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิมตามธรรมชาติ คนทุกคนล้วนมีโพธิจิต ที่มีปัญญาญานที่สามารถไปถึงนิพพานได้ แต่เหตุที่ไม่สามารถถึงนิพพานได้ตลอดก็เพราะคนเรายังมีอวิชชา  นิ้วทั้งห้าที่ขยายตัวมาเป็นภูเขาทับไว้ นั้นก็คือ ขันธ์5ซึ่งเป็นสเมือนเครื่องยึดเหนี่ยวเราไว้ ในสังสารวัฎ เมื่อยังยึดติดในขันธ์๕ อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาน ก็ก่อให้เกิดภพ ชาติ ไม่สิ้นสุด ตามกฎของปฏิจจสมุปบาท จึงไม่อาจไปถึงนิพพานได้

ท่านเขมมานันทะเขียนบรรยายไว้ดังนี้

“ด้วยเหตุที่ยังไม่พ้นอุปาทานในขันธ์ ๕ พอปัญญาเคลื่อนตัวขึ้นสู่สนามการงานที่ไหนก็เป็นทุกข์ที่นั่น เพราะอุปาทานครอบงำ จึงอุปมาได้ว่า ให้ซีเทียนไต้เซีย(เห้งเจีย)กินน้ำเหล็กหลอมทุกครั้งที่มันหิว นั่นคือพอจิตกระทำงานตามหน้าที่ของมัน ก็ยึดมั่นว่าฉัน ว่าของฉัน จนเป็นทุกข์ดุจกินน้ำเหล็กหลอม”

เคยมั๊ยครับเราปฎิบัติิธรรมแต่ทำไมยังทุกข์ หรือว่าเรายังติดอยู่ที่ตัวอุปทานขันธ์๕


แม้ตอนคณะของพระถังซำจั๋งได้ออกเดินทางแล้ว อาจารย์และศิษย์ทั้งสาม ก็ต้องเผชิญอุปสรรคอีกมากมายที่ยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เปรียบดังกิเลสชั้นต่างๆที่เราต้องเปลื้องให้หลุดออกไป จนหมดสิ้น แต่ละขั้นแต่ละตอนล้วนยากขึ้นซับซ้อนขึ้น เปรียบดังกำลังของปีศาจก็จะสูงขึ้นซับซ้อนขึ้นเมื่อคณะเดินทางเข้าใกล้ชมพูทวีป  หากสนใจต้องติดตามหาหนังสือมาอ่านนะครับ

http://truthoflife.fix.gs/index.php?topic=377.0

    คำนิยมโดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

อ่านไซอิ๋ว

ได้เดินทางไกลกับไซอิ๋ว
ลิ่วลิ่วล่องไปในแดนจิต
มากมีมายาสารพิษ
มากฤทธิ์ร้อยพันสารภัย

บางครั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
นานาความอยากมักได้
คอยตั้งแต่จะเอาเข้าไป
เท่าไรเท่าไรไม่เคยพอ

บางครั้งรั้นโลดโดดดุ
ราวไฟปะทุติดต่อ
ทำลายไม่ยั้งไม่รั้งรอ
เก่งกาจจริงหนอนะใจเรา

บางครั้งงมเงื่องเซื่องซึมเซ่อ
ละเมอเพ้อบ้าพาขลาดเขลา
มืดมนหม่นมัวมั่วมึนเมา
จับเจ่าจ่อมจมจนจำเจ

ถอยหลังนั่งยามตามดูจิต
เห็นฤทธิ์เห็นรอยกำหราบเล่ห์
เห็นภูมิปัญญามาถ่ายเท
เสน่ห์ผู้รู้ผู้ตีความ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
พฤ. ๒ พ.ย. ๒๕๓๒

 
Leave a comment

Posted by on 20/05/2011 in Good book

 

ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว

The One Straw Revolution เขียนโดย Masanobu Fukuoka ตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศมาแล้วมากมาย ส่วนภาษาไทยตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓0 ผู้แปลคือ รสนา โตสิตระกูล   ผมคิดอยู่นานว่าจะแนะนำหนังสือเล่มนี้ดีหรือไม่ ที่จริงแล้วเป็นเพราะหนังสือดีขนาดนี้ทุกคนอาจจะได้อ่านกันหมดแล้วก็ได้  แต่ก็ไม่แน่บางท่านอาจจะยังไม่เคยอ่าน จึงต้องเชิญชวนแกมบังคับ

หนังสือเล่มนี้อาจช่วยชีวิตคุณได้ สำหรับคนที่พบว่าชีวิตไม่ค่อยมีความสุข ชีวิตไม่ค่อยมีค่า มาซาโนบุ ใช้ชีวิตของตนเองเรียนรู้ผ่านประสพการณ์แล้วเขียนไว้ในบทนึงว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร”

ที่ผมรู้ึสึกทึ่งก็เพราะชีวิตช่วงต้นของลุงมาซาโนบุนั้นก็เป็นคนในสังคมเมืองเหมือนอย่างเราๆ เป็นนักวิทยาศาสตร์เสียด้วย เมื่อได้ประจักษ์ความจริงของชีวิต  ก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตแบบที่สวนทางกับโลก สังคมและคนทั่วไป ที่ดำเนินบทบาทในสังคม  บทท้ายๆมาซาโนบุทิ้งคำพูดไว้ว่า ใครกันคือคนโง่ และปริศนาเกี่ยวกับ เมฆพเนจรและมายาแห่งวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เราเข้าใจถึง ความโง่ที่ดูเหมือนเป็นความฉลาด ของพวกเราในทุกวันนี้

หนังสืิอเล่มนี้จะว่าประสพความสำเร็จก็ใช่ จะว่าล้มเหลวก็ได้

ในแง่ที่ประสพความสำเร็จก็คือมันได้ก่อกระแสไปทั่วโลก ให้มนุษย์ตื่นตัวกับการปรับจิตปรับใจ การใช้ชีวิต และหันมาดูแลเอาใจใ่ส่ธรรมชาติ ด้วยความเรียบง่ายของเกษตรกรรมและความพอเพียงที่ยั่งยืน  ขนาดศิลปินไทยอย่าง แอ๊ด คาราบาวยังแต่งเพลงที่ได้รับแรงบัลดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นเพลงชื่อ “ลุงฟาง”

แต่อย่างไรก็ตามความล้มเหลวของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ผลของมันไม่สามารถก่อการปฎิวัติยุคสมัยได้ ในภาพรวม สังคมมุนษย์ก็ยังคง หมุนไปความสนุกสนานของการบริโภคในเศรฐกิจแบบทุนนิยม โนยบายของประเทศต่างๆก็ยังถูกกำหนดโดย บรรษัทข้ามชาติ ที่คำนึงถึง ความเจริญแบบตัวเลข และผลกำไรทางการเงิน แบบฉบับความสำเร็จจากหนังสือพ่อรวยสอนลูก เดอะซีรียส์   ในวันนี้ ทรัยพยากรต่างๆถูกขุดขึ้นมากมายเกินพอดีธรรมชาติยังคงถูกทำลายไปเรื่อยๆแบบที่ไม่มีใครสน และสุดท้าย…อภิมหาภัยพิภิบัติต่างๆมากมายเกินกว่ามนุษย์จะจินตนาการได้ก็เริ่มเกิดขึ้น

 
Leave a comment

Posted by on 01/05/2011 in Good book

 

เขียนมนุษย์

ช่วง มูลพินิจ “ศิลปินผู้เห็นมดยิ้ม”นักวาดภาพประกอบชั้นครู ฝากผลงานต่างๆไว้บนสิ่งพิมพ์ ในอดีตมากมายเช่นภาพปกหนังสือพ๊อกเก็ตบุ๊ค ของรงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ว่าจะเป็น เสเพลบอยชาวไร่, สนิมสร้อย, ผู้มียี่เกในหัวใจ และหนังสือของนักเขียนในยุคนั้นอีกมากมาย เช่น อุษณา เพลิงธรรม, สุวรรณี สุคนธา, เสฐียรโกเศศ  หรืองาน ภาพใบปิดหนัง เรื่องแผลเก่า และเพื่อนแพง ของเชิด ทรงศรี

ภาพวาดที่เขียนสัดส่วนของร่างกายมนุษย์ร้อยรัดด้วยลายไทย ที่อ่อนช้อยและวิจิตรพิสดาร คือเสน่ห์ของช่วง มูลพินิจ ไม่ว่าจะเป็นภาพแนวธรรมะ แนววรรณคดี หรือแนวอิโรติก  มันเป็นความงามที่ดูสะอาดและอ่อนช้อย

งานเขียนของช่วง มูลพินิจก็เช่นกัน ในหนังสือเล่มนี้ แต่ละหน้าจะมีรูปภาพเขียนลายประกอบที่สวยงาม กับบทความสั้นๆแต่ลุ่มลึก  ทั้งรูปและบทความต่างสอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำหน้าที่สื่อสารความคิดของงานเขียนให้แก่ผู้อ่านได้อย่างชัดเจน

บทความแต่ละหน้ามีเรื่องราวเกี่ยวกับ มนุษย์ และ ชีวิต ที่ผู้เขียนบ่มเพาะ คิด อย่างตกผลึกและถ่ายทอดความคิดนั้นออกมาแก่ผู้อ่าน

หนังสือเล่มนี้ไม่จำเป็นต้องอ่านแต่หน้าแรก ไม่จำเป็นต้องอ่านวันเดียวให้จบ เพียงแค่คุณหาห้องเงีบยๆนั่งเอนหลังนิ่งๆสบายๆ เปิดหน้าไหนขึ้นมาก็ได้ อ่านบทความพร้อมกับพิจารณาภาพเขียน  หลังจากนั้น ใช้สติคิดตาม หนังสือเล่มนี้จะก่อธรรมปัญญาให้แก่ตัวคุณ

หาซื้อกันให้ได้นะครับ หายาก อาร์ตด้วย

สนใจชมภาพศิลป ได้ที่ หอศิลป์ช่วง มูลพินิจ

http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVE13TURNMU5BPT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBeE1TMHdNeTB6TUE9PQ==

 
Leave a comment

Posted by on 30/04/2011 in Good book

 

จดหมายถึง วาเนสสา

เขียนโดย เจเรมี เฮย์เวิร์ด จบคณิตศาสตร์และฟิสิกส์จากเคมบริดจ์ ทำงานด้านชีวโมเลกุล กับนักวิทยาศาสตร์ รางวัลโนเบล จนมีผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการมากมาย แต่รู้มั๊ยครับ ฝรั่งนักวิทยาศาสตร์คนนี้ตั้งใจเขียน หนังสือเกี่ยวกับพุทธ โดยใช่ถ้อยคำง่ายๆเพื่อ ถ่ายทอดให้กับ ลูกสาวมัธยมปลายได้อ่าน

หนังสือเล่มนี้ เหมาะกับใคร

ก็พวกเรานี่หละครับ เจเรมีบอกไว้ว่า กรอบความคิดของคนสมัยนี้ ปัจจุบัน ถูกล้อมไว้ด้วยรูปแบบการมองโลกแบบวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เราเติบโตมา ทำให้ปฏิบัติเท่าไรเราก็มักจะถึงทางตัน เพราะยึดติดกรอบความรู้ ความคิด และ ตรรกะ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ แบบแยกส่วน แปลกมั๊ยละครับ นักวิทยาศาสตร์แท้ๆกลับปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองร่ำเรียนมาชั่วชีวิต

สำหรับ ท่านที่พบว่า ศัพท์ทางพุทธที่บัญญัติไว้เป็นบาลี ช่างเข้าใจยาก ฟังหลวงพ่อในบ้านเราเทศน์แล้ว ยังไม่เข้าใจ มาลองอ่าน เล่มที่นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเขียนอธิบายบ้าง บางทีภาษาสมัยใหม่ที่เค้าใช้ อาจทำให้ เราgetและเข้าถึงธรรมมะบางข้อมากขึ้น เช่นเบญจขันธ์ สมาธิ หรือหลักสติปฐานสี่

ลองดูครับ ไม่ว่าพุทธศาสนาใด นิกายใด แก่นแท้แล้ว ย่อมเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับจริตของมนุษย์แต่ละพวกว่า จะเข้าใจ และเข้าถึง ธรรมะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ด้วยวิธีการใด

 
Leave a comment

Posted by on 22/04/2011 in Good book

 

ในคนมีปลาในขามีครีบ

จำได้ว่าสมัยเรียน วิชาอนาโตมีเป็นยาขมสำหรับผมมาก(จริงๆขมทุกวิชา555) อาจเพราะมันน่าเบื่อที่ต้องมานั่งท่องแผนที่สรรพอวัยวะในร่างกายมนุษย์เอาไปสอบ เด็กที่เกลียดการท่องจำอย่างผมก็เลยป่วยจิต
ว่าไปแล้วครึ่งนึงอาจต้องโทษ คนสอน ที่สอนได้ไม่มีอะไรน่าสนุกตื่นเต้นเลย แต่ก็อย่างว่า อาจารย์แพทย์ท่านเก่งมาก แต่เรื่องสอนมันก็อีกเรื่อง เป็นทริค เหมือนทอล์กโชว์ แต่ละคนก็มีพรสวรรค์ด้านนี้ไม่เท่ากันอยู่แล้ว  คนฉลาดมากๆบางทีก็ไม่สามารถสอนคนอื่นให้ฉลาดเท่าตัวเองก็ได้

เมื่ออ่านหนึ่งสือของ ศจ.นิลชูบิน ท่านเป็นศจ. หัวหน้าภาควิชาอนาโตมี ที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาลัยชิคาโก แต่ไม่ได้เป็นหมอนะครับ เป็นนักโบราณชีววิทยา หนังสือเล่มนี้แปลมาจาก ชื่อภาษาอังกฤษว่า  YOUR INNER FISH  อ่านจบแล้ว ทำให้ผมเข้าใจอนาโตมีของมนุษย์มากขึ้น ผ่านทางการศึกษาวิวัฒนาการของสัตว์ในโลกและซากฟอสซิล วิชาอนาโตมีที่ว่าน่าเบื่อกลายเป็นสนุกขึ้นมาเลย  ผมคิดว่าคนที่เป็นนักศึกษาแพทย์อ่านก็คงจะชอบเพราะมีพื้นฐานอนาโตมีกันดีอยู่แล้ว แถมหนังสือมีสาระในประเทศเรา ก็มีน้อยเหมือนงมเข็มในทะเล ในขณะเดียวกันคนธรรมดาก็ยังอ่านสนุกนะครับ คุณไม่จำเป็นต้องรู้ศัพท์แพทย์อะไรก็ได้  เพราะ หนังสือเล่มนี้อ่านง่ายทำให้เราเข้าใจโลกของสิ่งมีชีวิตได้มากขึ้นแน่นอนครับ
คานธีเคยกล่าวด้วยประโยคที่อุดมไปด้วยความเมตตาว่า “เราทั้งผองพี่น้องกัน” จริงๆแล้วมันมีอาจความหมาย ลึกซึ้ง มากกว่าจะแปลออกมาตรงเป็นคำๆ  หรือเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานพระโพธิสัตว์ที่ท่านเมตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายในสากลจักรวาลโดยเท่าเทียมกันทั้งโลก ไม่ว่าจะสัตว์นรก เดรัจฉานมีพิษ หรือคนโหดเหี้ยมดุร้าย อาจเพราะท่านเห็นความจริงข้อนี่ว่า สัตว์ทั้งหมดล้วนมีกำเนิดจากจุดเดียวกัน มีสายใยเชื่อมโยงกัน ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ที่มักหลงมองตัวเองเป็นสัตว์ประเสริฐอยู่พวกเดียว

 
Leave a comment

Posted by on 18/04/2011 in Good book

 
Aside

เล่มนี้อาจจะหายากเลยแหละ เพราะผมไปเจอตามกองหน้งสือเก่าๆที่เค้าเอามาขายลดราคา เป็นบันทึกจดหมายที่อองซานซูจีเขียนเอง เล่าเรื่องประเทศพม่า ทั้งสังคมและปัญหาการเมืองให้เพื่อนชาวญี่ปุ่นเอาไปเผยแพร่นอกประเทศ สมัยที่เธอถูกรัฐบาลพม่ากักกันบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านครั้งแรก อ่านแล้ว ก็ได้อะไรเยอะ อดหันกลับมามองการใช้อำนาจในประเทศเราไม่ได้

จดหมายจากพม่า

 
Leave a comment

Posted by on 16/04/2011 in Good book